วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ไม่อยากโดนฉีดยาขยายปอด Oct 6, '08 3:45 AM

อาทิตย์ที่แล้วหลังจากไปพบหมอตามนัด แล้วได้ตรวจอาการท้องแข็ง หมอให้ยามากินเพื่อลดอาการ กินยาไปได้สองวันเกิดอาการใจสั่นทุกครั้งที่กิน แล้วรู้สึกว่าเราไม่ได้มีอาการถี่เป็นแค่วันละครั้ง สองครั้ง อย่างมากไม่เกิน 4 ครั้ง เพราะหมอบอกว่าถ้าอาการไม่ดีจะตรวจพบทุก 20 นาที แต่นี้ไม่ได้เป็นบ่อย ก็เลยเลิกกินยาเพราะกลัวมีผลต่อลูก และเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาหมอนัดไปตรวจอาการท้องแข็งอีกครั้ง

พอไปถึง รพ. เค้าก็ให้ขึ้นไปชั้น 4 จับขึ้นเตียงให้นอน ครึ่งชั่วโมงเพื่อวัดอีกครั้งนึงว่ามีอาการหรือเปล่า ช่วงที่กำลังจะหมดเวลา มดลูกเกิดอาการบีบตัวขึ้นมากราฟพุ่งขึ้นสูงปริ๊ด พอลงมาเจอคุณหมอก็ทำหน้าตาซีเรียส พอรู้ว่าเราอาการไม่ดีขึ้น แถมไม่ยอมกินยา ก็เลยขู่ว่า ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นหมอต้องให้ฉีดยาเพื่อขยายปอดให้ลูกในท้อง เพื่อว่าถ้าเค้่าคลอดออกมาก่อนกำหนด จะได้หายใจ และมีชีวิตรอดได้

แต่เรารู้สึกว่า เราไม่ได้มีอาการถึงขึ้นท้องแข็งถี่มาก เดินเหิน ได้ตามปกติ แถมอาการท้องแข็งก็เป็นไม่ได้บ่อยมาก วันนึงก็ไม่เกิน 4 ครั้ง ไม่น่าจะซีเรียสถึงขั้นต้องฉีดยาขยายปอด เออ..ถ้าถึงขั้นว่าเดินไปไหนไม่ไปได้ ปวดถี่มากจนต้องนอนอยู่กับที่ อันนั้นถ้าจับฉีดยาก็คงยอม

คุณหมอสั่งให้กินยาให้เคร่งครัด หากกินทีละเม็ดไม่ไหว ใจสั่นมากๆ ให้ลดยาลง จากทาน 2 เม็ด เช้าเย็น เปลี่ยนเป็น ทีละครึ่งเม็ด เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน ตอนนี้ก็เลยต้องทานยาให้ตลอดห้ามลืม กินยาทุกครั้งก็ใจสั่นทุกครั้งแต่ก็ไม่มาก พอทนได้ และงดกิจกรรมทุกอย่าง งานบ้านทุกอย่าง ห้ามเดินเยอะ ให้นอนพักมากๆ

คุยกะพี่บิ้นว่าถ้าเกิดไปหาหมออีกครั้งเสาร์นี้ ทานยาแล้วอาการยังคงที่ หรือดีขึ้นมาหน่อย แล้วไปเข้าเครื่องวัดนั่นอีก แล้วเจอว่าท้องแข็ง แล้วหมอจะให้ฉีดยาจะยังไม่ยอมฉีด เพราะเรารู้สึกว่าอาการไม่ได้แย่ขนาดนั้น ถ้าหมอให้ฉีดก็คงต้องบอกหมอว่าจะยังไม่ฉีด ขอ Second Opinion ก่อน รู้สึกว่าหมอจะกังวลเกินเหตุไปป่าว เพราะการฉีดยาไม่น่าจะเป็นผลดีต่อลูกเลย

ภาวนาว่า ขอให้อาการท้องแข็งนี่หายไปเร็วๆ ด้วยเหอะ ขอให้ลูกอยู่ในท้องให้ครบ 40 สัปดาห์ หรืออย่างน้อย 36-37 สัปดาห์ก็ยังดี อย่าเพิ่งรีบออกมานะลูก

วันนี้ก็เลยอดรนทนไม่ได้เลย ไปหาข้อมูลเกี่ยวกับอาการท้องแข็งมาอ่านดู

ท้องแข็ง เพราะมดลูกบีบตัว !


ท้องแข็งแบบนี้ มดลูกกลมๆ ของคุณแม่จะต้องแข็งโป๊กขึ้นมาทั้งหมด ไม่ได้แข็งเป็นบางจุดบางที่ บางทีก็แข็งมาก แข็งน้อยจนบางคนอาจไม่รู้สึกอะไรเลย ขณะที่บางคนอาจรู้สึกเหมือนแน่นจนหายใจไม่ออก ท้องแข็งอย่างนี้แหละครับที่มักมีปัญหา
   
ท้องแข็งของแท้ (มดลูกบีบตัวก่อนกำหนด) ปกติแล้วไม่ค่อยเกิดขึ้นช่วงตั้งครรภ์อ่อนๆ แต่ถ้าเกิดก็ไม่ค่อยดี อาจมีอะไรผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถอยู่จนครบคลอดได้ ซึ่งต้องหาสาเหตุอย่างละเอียดกันอีกที
   
ส่วนใหญ่ของคุณแม่ที่มีอาการท้องแข็งมักแข็งบ่อยที่สุดช่วงตั้งครรภ์ได้ 32 สัปดาห์ ยังจำได้หรือเปล่าครับว่า ลูกในท้องก็ดิ้นมากที่สุดตอน 32 สัปดาห์ด้วย สงสัยว่าการที่ลูกดิ้นมากๆอาจมีส่วนไปกระตุ้นทำให้มดลูกบีบตัว บ่อยขึ้นด้วยเหมือนกัน
   
และถ้าผ่านช่วง 32-24 สัปดาห์นี้ไปได้ก็จะมีอาการท้องแข็งน้อยลงบางคนพอถึงเวลาครบคลอด มดลูกกลับขี้เกียจไม่ยอมมีอาการเจ็บท้องคลอดซะเฉยๆ บางทีเลยกำหนดไปเลยก็มี แต่มีคุณแม่หลายๆ คนที่ท้องแข็งบ่อยแล้วไม่ดีขึ้นกลับยิ่งแข็งถี่ขึ้นซึ่งถึงตอนนี้คงเป็นเรื่องจำเป็น จะต้องไปหาคุณหมอแล้วล่ะครับ เพราะหากท้องแข็งแล้วไม่ได้รับการดูแลรักษามดลูกจะบีบตัวจนปากมดลูกเปิดตามมาด้วยการเจ็บท้อง คลอดก่อนกำหนด ทีนี้ละกลายเป็นเรื่องใหญ่แน่ๆ
   
หมอว่าให้ลูกอยู่ในท้องจะเหนื่อยจะลำบากยังไงก็ให้อยู่ในท้องดีกว่าเพราะหากคลอดก่อนกำหนด มันจะยิ่งเหนื่อยกว่าหลายเท่าที่สำคัญคือจะจนลงเยอะด้วย เพราะการดูแลเด็กคลอดก่อนกำหนด จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากอย่าบอกใคร แค่ยาช่วยขยายปอดน้ำใสๆ 2 ซีซี. ก็ตั้งห้าหมื่นบาทแน่ะ แล้วกว่าจะโตพอเอากลับบ้านไปเลี้ยงได้ไม่รู้ต้องหมดไปอีกเท่าไหร่
   
โดยปกติแล้วคุณแม่ทุกคนอาจมีอาการท้องแข็งที่เกิดจากมดลูกบีบตัวได้เป็นการแข็งตัว ที่เกิดขึ้นได้เองเป็นปกติภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า Braxton Hicks Contraction สำหรับภาษาไทยยังไม่มีชื่อ เรียกเฉพาะเอาเป็นว่ามดลูกคนเรากลมๆอันนี้ไม่ใช่มันจะนิ่มตลอดทั้งวันหรอกนะ

   
ท้องแข็งแบบนี้ไม่ดีแน่

มดลูกเป็นก้อนกล้ามเนื้อที่ใหญ่และแข็งแรงมาก บางทีมันก็อาจจะอยากยืดเส้นยืดสาย บีบตัวเล่นๆ บ้าง แต่ก็จะบีบตัวเบาๆ ค่อยๆ บีบช้าๆ แข็งตัวอยู่นานพอสมควร แล้วก็คลายตัวลงช้าๆ เป็นอย่างนี้วันละหลายครั้ง แต่โดยมากไม่ควรเกินวันละ 6-10 ครั้งถ้าคุณแม่มีอาการท้องแข็งหน้าตาอย่างที่ว่ามานี้ก็สบายใจได้ ไม่มีอะไรต้องตื่นเต้นแค่ท้องแข็งแบบอีตาฮิกซ์นี่เอง แหมชื่อฝรั่งซะด้วย
   
แต่หากท้องแข็งบ่อยมากกว่าปกติ หรือเดี๋ยวแข็งเดี๋ยวหายติดๆ กันเป็นชุด บางทีแข็งจนเจ็บด้วยซ้ำไป ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่ควรนิ่งดูดาย ไปหาคุณหมอดีกว่าครับเพราะคุณหมอจะพยายามหาสาเหตุว่าทำไมท้องถึงแข็ง ทำไมคุณลูกถึงอยากออกมาข้างนอกเร็วนักนะ ลูกในท้องแข็งแรงดีหรือเปล่า รวมไปถึงช่วยพิจารณาด้วยว่า ระหว่างยอมให้คลอดออกมากับเลี้ยงไว้ในท้องอย่างไหนปลอดภัยกว่ากัน

จริงๆ แล้วสาเหตุของท้องแข็งมีตั้งเยอะแยะ เขียนสิบหน้าก็ไม่หมด เอาเป็นว่าอาจเกิดจากแม่ไม่แข็งแรง สุขภาพไม่ดีอาจเป็นเบาหวาน ความดันสูง หรืออาจเกิดจากมดลูกไม่แข็งแรง มดลูกไม่ปกติ หรือเกิดจากเด็กตัวใหญ่ น้ำคร่ำมาก แต่สาเหตุที่พบมากที่สุดก็คือ "ไม่ทราบสาเหตุ"

ทำยังไงหาย "ท้องแข็ง"

ในรายที่ท้องแข็งมาก แข็งถี่ คุณหมอก็คงจับนอนโรงพยาบาล ให้เจาะเลือด ฉีดยาแล้วให้นอนเยอะๆ ยาที่ใช้รักษาอาการท้องแข็งเป็นยากลุ่มเดียวกับยารักษาหอบหืด คุณแม่คงสงสัยใช่มั้ยล่ะว่า ไม่ได้เป็นหืดสักหน่อย เอายาหืดมาให้กินทำไม นั่นแหละครับถูกแล้ว ยาเดียวกันนี้รักษาได้ทั้งสองโรคเลยยานี้พอกินเข้าไปแล้ว จะมีอาการข้างเคียงคือ ใจมันจะสั่น หัวใจเต้นเร็วเหมือนเจ้าเข้า ดูเหมือนเหนื่อยๆ แต่ก็ต้องทนหน่อยนะครับ เพราะท้องจะหายแข็งต่อเมื่อใจสั่นหากใจไม่สั่น ท้องก็ไม่หายแข็ง ถ้าลดยาลงไม่ให้ใจสั่น ท้องก็จะกลับมาแข็งเหมือนเดิม ก็ต้องยอมทนใจสั่นไปก่อนพออาการท้องแข็งดีขึ้นหมอจึงจะลดยาลงได้เรื่อยๆ
   
ส่วนคุณแม่ที่ท้องแข็งบ่อยแต่ไม่มากถึงกับต้องนอนโรงพยาบาล คุณหมอก็จะให้ยากลับไปกินที่บ้าน ที่เขาเรียกกันว่า "ยาคลายมดลูก" คือ อันเดียวกันนี่แหละครับ แต่เท่านี้ไม่พอครับ ต้องอาศัยการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ควบคู่กันไปด้วยถึงจะสามารถอยู่รอดปลอดภัยได้
   
อันดับแรกเลยก็ต้องพักให้มากๆ หากทำงานที่ต้องเดินมาก ใช้แรงงานเยอะ ก็ให้หยุดอยู่บ้านดีกว่า อยู่บ้านแล้วก็ห้ามขยัน ให้ทำตัวขี้เกียจที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าขี้เกียจอยู่แล้วก็สบายหน่อย ท่าทางจะหายเร็ว และพยายามหลีกเลี่ยงการเดินมากๆ การขึ้นลงบันได การยกของหนัก เพราะยิ่งมีกิจกรรมมากท้องก็จะยิ่งแข็งมา งานบ้าน งานหลวง งานราษฎร์ยกให้สามีทำหมด อย่าลืมขอใบรับรองแพทย์จากคุณหมอมายืนยันให้สามีดูด้วยนะครับ


6 ย.ช่วยลดอาการ

        1. ขี้เกียจได้ แต่อย่าบิดขี้เกียจ หมอสั่งให้นอนพักเยอะๆ ท้องจะได้ไม่แข็ง ตัวขี้เกียจเลยเกาะอยู่เต็มตัว พอบิดขี้เกียจปุ๊บท้องแข็งขึ้นมาทันที มันเหมือนกับตอนที่เราบิดผ้าเปียกๆ นั่นแหละน้ำก็จะทะลักออกมา ตอนเราบิดขี้เกียจเหมือนกัน ช่องท้องของเราปริมาตรจะเล็กลง ความดันในมดลูกก็สูงขึ้น ท้องก็เลยแข็ง

        2. ลุกขึ้นลุกลง อย่าให้มดลูกสะดุ้ง!!! อันนี้เนื่องจากท้องมักจะแข็งตัวบ่อยตอนเราล้มตัวนอนลงบนเตียง หรือตอนนอนแล้วขยับตัวลุกขึ้นจากเตียงท้องก็มักจะแข็งทุกที คราวนี้ก็ต้องระวังมากขึ้น จะล้มตัวลงนอนก็ต้องตะแคงลงช้าๆ จะลุกขึ้นก็ต้องพลิกตัวแล้วตะแคงขึ้นช้า ท่านี้เค้าเรียกว่าท่าบรรทมแบบนางเอกลิเก…แต่รับรองได้ครับ ท้องไม่แข็งแน่

        3. อย่ากลั้นปัสสาวะ!!! อย่างที่รู้กันอยู่ว่าตรงตำแหน่งที่มดลูกอยู่เดิมเคยเป็นพื้นที่ ของกระเพาะปัสสาวะมาก่อนพอท้องโตขึ้นมากระเพาะปัสสาวะกับมดลูกก็เลยต้องเบียบด แย่งที่กันอยู่ตรงนั้น ยิ่งท้องโตขึ้นเรื่อยๆ กระเพาะปัสสาวะยิ่งจะถูกเบียดเล็กลงเรื่อยๆ คุณแม่เลยต้องปัสสาวะบ่อยขึ้น คราวนี้หากกลั้นปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะก็จะโป่งมากขึ้น แล้วก็จะไปกดเบียดมดลูกจนมดลูกมีความดันสูงขึ้น ดังนั้นคุณแม่ก็มักจะท้องแข็งบ่อย ตอนกำลังจะปวดปัสสาวะ พอปัสสาวะออกไปแล้วอาการท้องแข็งก็บรรเทาลง

        4. อย่าจับท้องบ่อย!!! ยิ่งจับบ่อย ก็ยิ่งแข็งบ่อยนะจะบอกให้มดลูกเป็นอวัยวะที่ประกอบไปด้วย กล้ามเนื้อมากมายและไวต่อการกระตุ้นมาก เอามือจับไปจับมามดลูกก็แข็งตัวขึ้นมาได้ คุณแม่ที่รู้สึกว่าท้องแข็งบ่อยมักจะชอบเอามือไปลูบๆ คลำๆ อยู่ตลอด ด้วยเป็นกังวลว่า มดลูกมันจะแข็ง มดลูกมันก็เลยแข็งสมใจเพราะไปจับไปคลำมันมาก ท่องเอาไว้เลยนะครับ… ดูแต่ตา มืออย่าต้อง ท้องจะแข็ง

        5. อย่าจู๋จี๋มีเพศสัมพันธ์ ช่วงที่ท้องแข็งบ่อย คุณหมอจำเป็นต้องสั่งงดการมีเพศสัมพันธ์ เพราะการมีเพศสัมพันธ์จะไปกระตุ้นแถวบริเวณปากมดลูก ซึ่งจะทำให้มีการบีบตัวของมดลูกตามมา เพราะถ้าจะเปรียบไปแล้วการกระแทกระเทือนระหว่างมีเพศสัมพันธ์มันก็เหมือนพาคนท้องนั่งสามล้อวิ่งบนลูกระนาด สุดท้ายก็ยิ่งทำให้ท้องแข็งไปกันใหญ่ แหม…บางคนยังมาต่อรองอีกนะว่า ค่อยๆ ทำเบาๆ ได้หรือเปล่า อย่าดีกว่าเพราะเดี๋ยวเวลาคุณเธอถึงจุดสุดยอดขึ้นมา มดลูกก็จะมีการบีบตัวเป็นจังหวะตามมาอีก เดี๋ยวยุ่งกันเสร็จก็ต้องพาไปคลอดต่อได้เลย นอกจากนั้นในทางการแพทย์ก็ยังพบว่าในน้ำอสุจิจะมีสารเคมีที่ชื่อว่า โปรสต้าแกลนดิน ซึ่งสารตัวนี้แหละเป็นตัวการสำคัญของธรรมชาติที่ทำให้ปากมดลูกขยายตัวในระหว่างการคลอด ดังนั้นหากแอบมีอะไรกันฝ่าฝืนคำสั่ง หมอก็ควรหลีกเลี่ยงการปล่อยน้ำเชื้อเขาไปข้างในนะครับ

        6. ห้ามยุ่งกับ "หน้าอก" นะ เวลามีอะไรกัน ก็น้อยนักที่จะไม่ไปยุ่งอะไรกับเต้านมเลย ยิ่งในขณะที่ตั้งครรภ์เต้านมจะยิ่งขยายเป็นที่น่าดึงดูดต่อสามียิ่ง หมอเลยต้องเอ่ยปากห้ามยุ่งตรงนี้ไว้ก่อน หากมีอาการท้องแข็งก่อนกำหนด เพราะการจับ การกระตุ้นที่บริเวณหัวนมจะไปกระตุ้นให้มีการสร้างฮอร์โมน ที่ทำให้มีการบีบตัวของมดลูกได้
       
คุณแม่ที่เคยมีลูกมาก่อน อาจจะนึกออกว่าตอนลูกดูดนมมดลูกจะมีการบีบตัวพร้อมๆ กันด้วย ระหว่างอาบน้ำก็ไม่ควรไปฟอกจับบริเวณหัวนมด้วยเหมือนกัน หากหัวนมแข็งชันขึ้นมาเมื่อไหร่ มดลูกก็อาจจะแข็งตัวตามมาได้เมื่อนั้น สรุปแล้วหากท้องแข็งบ่อยก่อนเวลา หมอก็คงต้องสั่งห้ามการมีเพศสัมพันธ์ไว้ก่อน หลังคลอดแล้วค่อยว่ากันใหม่ครับ

ที่มา.. นิตยสารดวงใจพ่อแม่    ปีที่ 5 ฉบับที่ 55 พฤษภาคม 254

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น