วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ภารกิจพิชิตภูมิคุ้มกัน...ทางใจ : ตอน มามิไม่รอ : 21 มิ.ย. 2553 09:07


ก่อน อื่นต้องขอออกตัวก่อนเลยนะคะว่า การเขียนบล็อกเรื่องนี้ไม่ง่ายเลย เพราะด้วยความรู้ในเรื่องของพฤติกรรมเด็ก ของแม่แหม่มยังไม่ค่อยมีมากเท่ากับเรื่องการพัฒนาการของเด็ก ทำให้เราคิดว่าปัญหาที่น่าจะเป็นปัญหากลับไม่ใช่ปัญหา แต่บางสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นปัญหา กลับเป็นปัญหา (เง้อ…เริ่มงงแล้วล่ะสิ) แต่งัยก็ลองเขียนดูก่อน เผื่อใครมีประสบการณ์คล้ายกัน จะได้มาแชร์กันนะคะ
สำหรับปฏิบัติการณ์เติบโตสู่โลกกว้าง เสริมสร้างวัยเตาะแตะ ครั้งนี้ ชื่อตอนว่า “ภารกิจพิชิตภูมิคุ้มกัน...ทางใจ” เป็นการเสริมสร้างให้เจ้าตัวเล็ก ได้มีพฤติกรรม ที่เหมาะสม เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางใจให้กับเจ้าตัวเล็กที่จะเติบโตขึ้นมา โดยให้เรา MommyBear ทั้ง 10 ครอบครัวได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเล่าถึงปัญหาอาการงอแงต่างๆ ของเด็กในแต่ละครอบครัว พร้อมทั้งปรึกษาคุณหมอพัฏถึงสาเหตุ และวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เราคนเป็นพ่อเป็นแม่ซึ่งใกล้ชิดกับลูกมากที่สุด จึงต้องเริ่มค้นหาพฤติกรรมที่เริ่มเปลี่ยนแปลง และเป็นปัญหาของลูกในวัยนี้กันค่ะ
แล้ว เรามาดูมามิกันว่ามีอะไรบ้างที่เป็นเรื่องน่ากังวล จากการสังเกตโดยรวมแล้วไม่ค่อยมีอะไรที่เด่นชัดมาก แต่ก็มีเรื่องที่น่าจะเป็นปัญหาอยู่ 3 เรื่องคือ
- การตีตัวเองในบางอารมณ์ที่แปลกๆ (มามิตีตาย)
- อาการงอแง เมื่อต้องการอะไร แล้วต้องได้เดี๋ยวนั้น (มามิไม่รอ)
- อาการงอแง ไม่ยอมอยู่คนเดียว (มามิสาวสังคม)
สำหรับการตีตัวเอง ในวันที่ได้เข้าร่วมภารกิจพิชิตภูมิคุ้มกันทางใจ  ทางคุณหมอพัฏ ได้ให้ความรู้เรื่องนี้ว่า "เป็น พฤติกรรมที่พบได้ ในวัยขวบ ถึงสองขวบ สาเหตุมาจากการพยายามที่ต้องการสื่อสารของเด็ก ซึ่งยังไม่สามารถทำได้ดังใจตัวเอง และคนรอบข้างไม่สามารถเข้าใจได้ ทำให้เด็กต้องระบายออกด้วยอาการแปลก เช่นตีตัวเองบ้าง กรี๊ดเสียงดังบ้าง" อาการ เหล่านี้ สามารถบรรเทาได้ด้วยการให้ความสนใจในสิ่งที่เด็กต้องการสื่อสารออกมา และตอบสนองให้เด็กรู้ว่าเราเข้าใจ แต่หากต้องการปรับพฤติกรรม ก็อาจจะให้หันเหพฤติกรรมเหล่านี้ ด้วยสิ่งอื่น เช่น เมื่อมามิ ตีตัวเอง ก็ให้ดึงเข้ามากอดแน่นๆ หรือหาสิ่งอื่นมาหันเหความสนใจจากเรื่องนี้ไปเลย
แต่.. ถ้าเรายิ่งไปดุว่า หรือทำให้ตกใจ เค้าก็จะยิ่งรู้สึกว่าเค้าไม่สามารถสื่อสารอะไรกับเราได้ ก็จะยิ่งเป็นการตอกย้ำพฤติกรรมอันนี้ให้ชัดเจน และยากที่จะแก้ไขภายหลังได้  เมื่อมามิเกิดอาการนี้ขึ้นมา แม่แหม่มก็จะใช้การกอดแน่นๆ ถามเค้าว่า “มามิจะเอาอะไรเหรอลูก” แล้ว ให้มามิพูดออกมาว่าต้องการอะไร พอทำแบบนี้ทุกครั้งที่เค้าตีตัวเอง เค้าก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ความถี่ของพฤติกรรมเริ่มลดลง ทำให้รู้สึกโล่งใจไปอีกเปลาะหนึ่ง
ส่วนอาการงอแง ต้องการอะไรต้องได้เดี๋ยวนี้ (มามิไม่รอ) เป็น พฤติกรรมที่เพิ่งเริ่มสังเกตเห็นเหมือนกัน  อย่างที่ออกตัวไว้ก่อน คือตัวแม่แหม่มเองก็ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องพฤติกรรมเด็กวัยเตาะแตะมากนัก แต่หลังจากร่วมกิจกรรม “ภารกิจพิชิตภูมิคุ้มกัน...ทางใจ” แล้ว จึงเริ่มมาสังเกตอย่างจริงจัง เลยพบว่ามามิ มีอาการไม่อดทนรอ ซึ่งจริงๆ แล้วพฤติกรรานี้มีมาตั้งนานแล้ว เพียงแต่แม่แหม่มคิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของเด็กในวัยนี้ที่เป็นกันทุกคน ซึ่งก็จริงที่ว่า เด็กในวัยนี้มักไม่อดทนรอ แต่พอค้นหาข้อมูลในเว็บเพิ่มเติม ก็พบว่า เรื่องนี้จะพัฒนาเป็นปัญหาในขวบปีต่อไป ถ้าหากเราไม่เริ่มรับมือกับปัญหานี้อย่างจริงจัง
เอาล่ะสิ….ถ้าอย่างนั้น แม่แหม่มก็ต้องเริ่มปรับพฤติกรรมนี้ของมามิในทันที รอไม่ได้แล้ว
เริ่มจากพฤติกรรมการร้องขอ "กรอบๆ" หลังอาหาร ซึ่งก็คือ ซีเรียล อาหารว่างของมามินี่เอง ปกติพอป้อนข้าวเสร็จแม่แหม่มก็จะให้มามิกิน"กรอบๆ" ทันทีแล้วค่อยไปไปล้างจาน ล้างมือ เช็ดโต๊ะ และเตรียมน้ำดื่มมาให้มามิ
แต่คราวนี้ลองมาเพิ่มเวลาการรอคอยของมามิอีกนิดนึง โดยเริ่มจากการเพิ่มกิจกรรมอื่นๆ ก่อนจะเริ่มกิน "กรอบๆ" ก็จะมีให้ เล่นของเล่นก่อนบ้าง หรือไม่ก็ให้เล่นหมุนฝาขวด เปิดปิดฝาขวด ซึ่งเป็นการฝึกกล้ามเนื้อและการสมาธิของมามิ เพื่อให้หนูมีสมาธิดีขึ้น แล้วก็ยังเป็นเพิ่มเวลาให้แม่แหม่มได้ทำกิจกรรมอย่างอื่นเพิ่มขึ้นด้วย
ขั้นตอนต่อไปก็เริ่มไม่ใช้ตัวช่วยแล้ว แต่ลองมาใช้การพูดคุยสื่อสารกับมามิแทน โดยทันทีที่มามิเริ่มร้องขอ "กรอบๆ" คราวนี้แม่แหม่ม ก็บอกกับมามิว่า "เดี๋ยวก่อนนะ แม่กำลังล้างจานอยู่" ส่วนเจ้ามามิก็ยังร้องขอต่อไป "กรอบๆๆๆๆๆ" แม่แหม่มก็ไม่ยอมแพ้ยังคงพูดต่อไปว่า "แม่ล้างจานอยู่นะ มามิต้องรอนะ" ครั้งแรกๆ ก็ต้องทนฟังเสียงมามิไปเรื่อยๆ มาเริ่มได้ผลประมาณครั้งที่สิบได้ละมั๊ง
พอมามิพูด "กรอบๆ"
แม่ก็จะถามว่า "แม่ทำอะไรอยู่คะมามิ"
มามิก็จะตอบว่า "แม่ล้างจาน"
แม่ก็พูดว่า "มามิต้องรอนะ"
มามิก็บอก "รอนะ"
แล้วมามิก็เงียบไปประมาณซักนาที แต่ก็ยังคราง หงิงๆ อยู่นะ ได้แค่นี้ก็นับว่าชื่นใจแล้วล่ะ มีครั้งนึงแม่มามิร้องขอ "กรอบๆๆๆๆ" แม่แหม่มยังล้างจานอยู่ก็หันไปบอกว่า “มามิ พูดเพราะๆ สิลูก” ในใจก็คิดว่าลูกจะพูดว่า “กรอบๆ จ้า” แต่ผิดคาด เจ้าตัวแสบพูดซะเต็มประโยคเลยว่า “แม่จ๋า กรอบๆ จ้า” ชื่นใจจริงๆ ลูกเอ๊ย
เรื่อง อาการอดทนรอ นี้ความจริงก็เคยได้รับคำแนะนำจากคุณหมอที่ดูแลเรื่องพัฒนาการของมามิ ตั้งแต่ตอนขวบนึงได้แล้วมั๊ง ทางคุณหมอให้สูตรมาว่า 1ขวบ 1นาที แต่ตอนนั้นไม่ค่อยได้ให้ความสนใจมากนัก เพราะคิดว่ามามิไม่มีปัญหา แต่สุดท้ายก็ต้องมาฝึกกันซักหน่อย ก็ยังดีที่มามิให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ในเรื่องของอาการมามิสาวสังคมนั้น แม่แหม่มต้องขอติดไว้ก่อนนะคะ อดใจรอเอาไว้ตอนหน้าให้ปะป๊าของมามิมาเล่าให้ฟังบ้าง มาลองฟังจากมุมมองของผู้ชายซักนิด ก็น่าจะเป็นประโยชน์เหมือนกันนะคะ
หลัง จากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ ยิ่งทำให้แม่แหม่มรู้ว่า บางเรื่องที่เราคิดว่าเล็กน้อย นั้นอาจจะเป็นปัญหาที่เรื้อรังได้ เพราะฉะนั้นแม่แหม่มต้องหมั่นสังเกต เจ้าตัวเล็กตาโตคนนี้ให้มากขึ้น แล้วหาข้อมูลเรื่องพฤติกรรมให้มากขึ้นเช่นกัน ส่วนเรื่องการปฏิบัตินั้น ก็คงเป็นไปตามที่คุณหมอพัฏแนะนำว่า ตำราก็เป็นแค่ไกด์ไลน์ ส่วนการเอาไปใช้ก็ต้องประยุกต์ตามสถานการณ์จริง วิเคราะห์เหตุ แล้วดูผลทีเกิดขึ้น นำมาปรับแก้กันอีกที ก็หวังว่าการฝึกครั้งนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันทางใจให้กับ มามิ เจ้าตัวเล็กของแม่

อ้อถ้าใครมีประสบการณ์ทำนองนี้ ก็ลองมาเล่าสู่กันฟังนะคะ เม้นท์กันเข้ามาเยอะๆนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น